วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ประวัติเมืองคอน

ประวัติเมืองนครศรีธรรมราช





นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีเสน่ห์น่าไปเยือนมากเมืองหนึ่งนอกจากจะมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามเช่นเขาหลวง หรือชุมชนพัฒนาตัวอย่างที่บ้านคีรีวงที่เมืองนครฯก็ยังเป็นแหล่งศิลปะวัฒนธรรม ทั้งหนังตะลุง โนรา ที่แฝงไว้ด้วยคติธรรมและเป็นเมืองพุทธในแดนใต้ ดังมีพระมหาธาตุวรมหาวิหารมรดกทางวัฒนธรรมที่เมืองนครมีอยู่ในปัจจุบันนั้นได้รับการสะสมมาจากประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 1800 ปี

“ตามพรลิงค์”คือแคว้นที่เคยตั้งอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชปัจจุบันได้รับการบันทึกอยู่ในเอกสารมิลินทปัญหาของอินเดียตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 5 และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่พ่อค้าจากอินเดีย จีน ตะวันออกกลางด้วยเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรที่กั้นน่านน้ำทั้งสองด้านจึงเหมาะที่จะเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้าจากทั้งสองฝั่งสมุทรและประกอบกับมีอ่าวที่เป็นท่าจอดเรือได้พร้อมกันนั้นศาสนาพราหมณ์ก็ได้แพร่เข้ามาด้วย พบหลักฐานมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14

ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 14-16 อาณาจักรศรีวิชัยที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองครหิ ไชยามีอำนาจปกครองเหนือดินแดนแถบคาบสมุทรพุทธศาสนานิกายมหายานจึงได้แพร่เข้ามาที่แคว้นตามพรลิงค์ด้วย

เมื่อเข้าสู่พุทธศตวรรษที่ 17-18 แคว้นตามพรลิงค์รุ่งเรืองสูงสุดผู้ครองแคว้นตั้งตนเป็นกษัตริย์ทรงนามพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชพร้อมกันนั้นได้สถาปนาราชวงศ์ปทุมวงศ์และแผ่อิทธิพลรวมทั้งพุทธศาสนาไปยังเมืองต่างๆในภาคใต้จนเป็นที่ยอมรับว่านครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น

เมืองนครศรีธรรมราช หรือ นครอันเป็นสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรมรุ่งเรืองอยู่ประมาณร้อยกว่าปี และเสื่อมลงเมื่อยกทัพไปตีเมืองลังกาและโจรชวาถือโอกาสเข้าปล้นเมืองถึง 3 ครั้งประกอบกับเกิดไข้ห่าระบาดจึงเป็นเหตุให้บ้านเมืองถูกทิ้งร้าง จนกระทั่งสมัยอยุธยาผู้คนเริ่มกลับมาตั้งบ้านเมืองใหม่อีกครั้งและนครศรีธรรมราชได้กลายมาเป็นหัวเมืองฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรอยุธยา

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในช่วงรัชกาลที่ 5 ได้มีการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ใหม่นครศรีธรรมราชได้เปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2439 จนกระทั่ง พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้ยุบมณฑลนครศรีธรรมราชและเปลี่ยนมาเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน

อาณาเขต


ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวไทย
ทิศใต้ติดกับจังหวัดพัทลุง สงขลา
ทิศตะวันออก ติดกับชายทะเลฝั่งอ่าวไทย
ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดตรัง และกระบี่



ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช



ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช เป็นราชวงศ์เก่าแก่วงศ์หนึ่ง ที่เคยมีอำนาจปกครองกำกับดูแล ‘นครศรีธรรมราช' ในยุคที่มีฐานะเป็นนครรัฐหรืออาณาจักรอิสระบนคาบสมุทรไทย ในช่วงพุทธศตวรรณที่ ๑๘ เป็นต้นมา ก่อนที่จะเข้ารวมอยู่ในราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ชื่อราชวงศ์นี้มีปรากฏอยู่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหลายอย่าง เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และจารึกหลักที่ ๒๔ (พ.ศ. ๑๗๗๓) เป็นต้นโดยรากศัพท์ คำว่า ‘ศรีธรรมาโศกราช' เป็นคำสนธิระหว่างคำว่า ธรรม+อโศก (เท่ากับธรรมาโศก) แต่ในเอกสารบางฉบับสระ ‘อา' หายไป เหลือเพียง ‘ศรีธรรมโศก'
ก่อนจะมามีฐานะเป็นนครรัฐ หรือเป็นอาณาจักรอิสระบนคาบสมุทรไทยนั้น นครศรีธรรมราชมีอายุความเป็นชุมชนยาวนานและต่อเนื่องมากกว่าชุมชนใดในภาคใต้ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวางมานาน หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในปัจจุบัน ยืนยันได้ว่า ชุมชนนี้มีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นอย่างน้อย ในชื่อต่าง ๆ เช่นตามพรลิงค์ กะมะลิง ตั้งม่าหลิ่ง โลแค็ก สิริธรรมนคร และศรีธรรมราช เป็นต้น หลักฐานความเป็นชุมชนที่ปรากฏเริ่มมาตั้งแต่ยุคหินกลาง ต่อเนื่องมาจนถึงยุคหินใหม่ และยุคโลหะ อันเป็นช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาถึงสมัยประวัติศาสตร์อันเป็นช่วงเวลาที่คนในชุมชนแห่งนี้เริ่มรู้จักใช้ตัวอักษรเพื่อสื่อสาร จนกระทั่งรุ่งเรืองไพศาลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง และการศาสนากว่าเมืองใดในภูมิภาคนี้ รวมอายุความเป็นชุมชนกว่าพันปี
โดยรากศัพท์ คำว่า ‘ศรีธรรมาโศกราช' เป็นคำสนธิระหว่างคำว่า ธรรม+อโศก
(เท่ากับธรรมาโศก) แต่ในเอกสารบางฉบับสระ ‘อา' หายไป เหลือเพียง ‘ศรีธรรมโศก'

หากจะกำหนดนับอายุของนครศรีธรรมราช ที่มีพัฒนาการจากความเป็นชุมชนริมฝั่งทะเลแล้ว อาจกำหนดยุคของเมืองนี้ได้อย่างกว้างๆ เป็นสามยุค ยุคที่ ๑ คือ ยุคตามพรลิงค์ มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘–๑๗ ยุคที่ ๒ ยุคนครศรีธรรมราช ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘-๒๓ และยุคที่ ๓ คือยุคปัจจุบัน ซึ่งมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ‘ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช' เป็นราชวงศ์ที่เข้ามาปกครองนครศรีธรรมราชในยุคที่สอง อันหมายถึงยุคนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นช่วงที่แคว้นหรือนครรัฐนี้มีความเจริญสูกว่าแคว้นอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

ยุคตามพรลิงค์

ช่วงเวลาของ ‘ยุคตามพรลิงค์' น่าจะเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๘ จนถึงที่ ๑๗ ในเวลานั้นที่สภาพที่ตั้งของตามพรลิงค์มีสภาพเหมาะแก่การค้าทางทะเลกว่าชุมชนอื่น เพราะอยู่กึ่งกลางระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับทะเลจีนใต้ เวลานั้นชาวจีนและชาวอินเดียที่นิยมติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนา ได้แวะพักหลบมรสุมที่ดินแดนแห่งนี้ เป็นผลให้วัฒนธรรมอินเดียเข้ามาสู่ชุมชนแห่งนี้ไปโดยปริยาย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๘ เป็นต้นมา มีร่องรอยความแพร่กระจายของศิลปวัตถุเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย และลัทธิไศวนิกาย ปรากฏร่องรอยให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสิชลและอำเภอท่าศาลาปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น หลักฐานศิลาจารึกหุบเขาช่องคอยซึ่งมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ก็ปรากฏตัวอักษรอยู่(อักษรปัลลวะ) อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลภาษาสันสกฤตและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามามากพอควรแล้ว จนเป็นที่รู้จักในชื่อแคว้น ‘ตามพรลิงค์' คาดหมายว่ามีแหล่งการค้าขายของชุมชนอยู่ที่ ‘บ้านท่าเรือ' (ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน)
ตามพรลิงค์ เจริญเติบโตมาโดยลำดับในฐานะเป็นชุมชนริมทะเล พัฒนาเป็นสถานีการค้าที่อยู่ระหว่างมหาสมุทรอินเดียวและทะเลจีนใต้ ต่อมาก็พัฒนามาเป็นเมืองท่าแห่งคาบสมุทรไทยหรือแหลมมาลายู จนกระทั่งถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ แคว้นตามพรลิงค์และเมืองท่าหลายแห่งในแหลมมาลายูและทะเลใต้ ก็ถูกกองทัพของราเชนทร์โจฬะโจมตีจนเสียหายยับเยิน นับแต่นั้นมาแคว้นตามพรลิงค์ก็ค่อยหมดบทบาทลง ส่งผลให้อิทธิพลเขมรได้เข้ามาครอบคลุมดินแดนแถบนี้แทนอิทธิพลอินเดียอยู่ระยะหนึ่ง ชุมชนเดิมที่กระจายอยู่ในแคว้นตามพรลิงค์ก็เริ่มหมดความสำคัญลงตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมสลายของแคว้นตามพรลิงค์ตามไปด้วย

ยุคนครศรีธรรมราช

ช่วงเวลาของ ‘ยุคนครศรีธรรมราช' น่าจะเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ทั้งนี้พิจารณาจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ที่ได้กล่าวถึงชนกลุ่มใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคว้นตามพรลิงค์ ภายหลังจากการโจมตีของโจฬะ คือกลุ่มชนที่มาจากลังกา โดยเฉพาะกลุ่มชนและภิกษุสงฆ์ที่ย้ายถิ่นฐานมาจากดินแดนในคาบสมุทร (ในตำนานเมืองกล่าวว่ามาจากเมืองหงสา) และเข้ามารวมกันกับกลุ่มซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิม ได้แก่ ชนพื้นเมืองกับชนเชื้อสายอินเดียที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่เดิม ชนสามกลุ่มนี้ได้ผสมผสานกันโดยมีพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เป็นแกนกลาง
ชนกลุ่มที่มาจากลังกาได้รับการยอมรับสูงกว่าอีกสองกลุ่ม เพราะในช่วงเวลานั้นกษัตริย์แห่งหลังกาคือพระเจ้าวิกรมพาหุที่ ๑ (พ.ศ.๑๖๕๔–๑๖๗๕) เป็นอุปัฎฐากสำคัญของพุทธศาสนาประกอบกับผู้คนเชื่อมั่นว่า ความศักดิ์สิทธิ์และความบริสุทธิ์แห่งพุทธศาสนาอยู่ที่เกาะลังกามากกว่าในชมพูทวีป รูปแบบความเชื่อของผู้คนในแคว้นตามพรลิงค์จึงคล้อยตามไปทางลังกาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และการบันทึกตำนาน โดยมีศูนย์กลางชุมชนบนหาดทรายแก้วในบริเวณที่เป็น ‘เมืองพระเวียง' (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน)

ส่วนชุมชนเดิมที่เกิดขึ้นจากการที่ชาวอินเดียเข้ามาตั้งสถานีการค้า ตั้งสถานที่อยู่อาศัยและศาสนสถาน ร่องรอยทางโบราณคดีที่พบในเขตอำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา อำเภอพรหมคีรี และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน โดยเฉพาะบริเวณตำบลท่าเรือ เมื่อถูกโจมตีจากโจฬะในกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ชุมชนดังกล่าวยังคงอยู่สืบเนื่องต่อมา แต่คงอยู่สภาพที่ตกต่ำทางเศษรษฐกิจและการเมือง ภายหลังจากนั้นได้เกิดชุมชนแห่งใหม่บริเวณเมืองพระเวียง ในการเลือกที่ทำเลตั้งเมือง ตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุกล่าวว่า มีการโยกย้ายหาที่เหมาะสมหลายครั้ง ด้วยเหตุผลเรื่องการเกิดโรคระบาด ซึ่งตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุศรีธรรมราชเรียกว่า ‘ไข้ยมบน'

กำเนิดพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือพญาศรีธรรมโศก ถือได้ว่าเป็นผู้นำชุมชนยุคที่สอง ที่สร้างบ้านแปงเมืองขึ้นบนหาดทรายแก้ว บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองพระเวียง (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) แต่กำเนิดหรือที่มาของกษัตริย์หรือผู้นำองค์นี้ มีหลักฐานแตกต่างกันเป็นสามสายคือ

สายที่หนึ่ง มาจากท้องถิ่นภาคใต้ หลักฐานที่กล่าวถึงเรื่องนี้ชัดเจนก็คือตำนานเมืองนครศรีธรรมราชในบรรทัดที่ว่า

“...ก็ตริกันจะตั้งเมืองแห่งหาดทรายโพ้น...ปีนั้นพญาศรีธรรมาโศกราชสร้างสถานหาดทราายนั้นเป็นกรุงเมือง ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช”

“....ได้แต่งสำเภาพงพากันหนีมาเถิง หาดทรายแก้วทะเลรอบตั้งอยู่...” และเมื่อมาถึงก็ “...เกลี้ยกล่อมผู้คนซึ่งอยู่ดงป่าเข้ามาประชุมกันเป็นอันมาก...” และ “...ให้จัดเอาคนในช่องห้วยช่องเขานั้นแล” นอกจากพวกชุมชนที่อพยพมาจากที่อื่นร่วมมือกับพื้นเมือง ก็ปรากฏว่ามีพระสงฆ์เดินทางมาจากลังการ่วมมือด้วย พระสงฆ์ที่เดินทางมานั้นเป็นนิกายที่เกิดวิวาทกันในลังกาและหัวหน้าสงฆ์รูปหนึ่งซึ่ง “มหาพุทธคำเพียร(เภียร)” “...มหาพุทธคำเพียรก็ว่าอยู่ไสจะวิวาทกันนัก...”จึงพร้อมด้วยบริวาร “...ให้แต่งสำเภา...” มายังนครศรีธรรมราช เสร็จแล้วคนสามกลุ่ม “...ก็ตริกันจะตั้งเมืองแท่งหาดทราบทะเลรอบโพ้น แล้วจะตั้งมฤคเจดีย์และพระพุทธรูปไว้ให้วันทนาในตำบลแห่งโพ้น ตามพุทธคำเพียรสนทนาเถิงพระทันต (ธาตุ) พระพุทธเจ้านั้นแล...” และในที่สุดเมื่อผ่านพ้นอุปสรรคทั้งหลาย “...ปีนั้นพญาศรีธรรมโศกราชสร้างสถานหาดทรายเป็นกรุงเมือง ชื่อเมืองนครศรีธรรมราช...” และ “... ทำอิฐปูนจะก่อพระมหาธาตุ...”



พิเคราะห์จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช จึงทำให้เข้าใจได้ว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นกษัตริย์ปกครองเมืองอื่นมาก่อน ภายหลังเกิดไข้ห่าระบาดในเมืองนั้น จนทำให้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก จึงต้องอพยพผู้คนที่เหลือตายลงเรือสำเภาหนีมาขึ้นที่หาดทรายแก้ว และได้ตั้งบ้านเมืองบขึ้น ณ ที่นั้น และขนานนามเมืองว่า ‘นครศรีธรรมราชมหานคร' เมื่อสร้างเมืองเสร็จก็ได้สร้างสถูปเจดีย์ สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นในปีมหาศักราช ๑๐๘๙ (ตรงกับ พ.ศ. ๑๗๑๐)

สายที่สอง มาจากอินเดีย ในตำนานอีกสองสำนวนมีเรื่องราวแตกต่างกันออกไปจากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช คือจดหมายเหตุตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับที่พบที่วัดเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับฉบับที่พบที่บ้านทุ่งตึก อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีเนื้อความตรงกันว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย ชื่อว่า ‘พราหมณ์มาลี' ได้อพยพไพร่พลลงเรือสำเภาหลายร้อยลำ หนีการรุกรานของพวกอิสลามจากอินเดีย มาขึ้นบกที่บ้านทุ่งตึก (ใกล้อำเภอตะกั่วป่า ฝั่งทะเลตะวันตก) ในชั้นแรกได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นที่นั่น อภิเษกพราหมณ์มาลีขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวายพระนามว่า ‘พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช' พราหมณ์มาลาผู้น้องเป็น ‘พระมหาอุปราช' การอพยพครั้งนั้นนัยว่าพวกอินเดียวได้นำเอาพระทันตธาตุมาด้วยเมื่อปี ๑๐๐๖ (เข้าใจว่าน่าจะเป็นปีมหาศักราช)

พวกพราหมณ์สร้างเมืองทุ่งตึกไม่ทันสำเร็จ ก็ถูกพวกอิสลามตามตีแตก จนต้องอพยพทิ้งบ้านทิ้งเมืองหนีขึ้นไปตามลำน้ำตะกั่วป่า ข้ามเขาสก ล่องเลียบริมฝั่งแม่น้ำพุมดวง มาทางทิศตะวันออก แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บ้านน้ำรอบ ตำบลน้ำรอบ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่เพราะเหตุภูมิประเทศไม่อำนวย ทำให้พวกพราหมณ์ที่อพยพมานี้ผิดน้ำผิดอากาศจนเกิดโรคระบาดขึ้น จึงต้องอพยพผู้คนต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปตั้งถิ่นฐานที่เชิงเขาชวาปราบปลายคลองสินปุน (อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่) แต่ก็มีเหตุโรคระบาดคล้ายกับที่บ้านน้ำร้อบ อำเภอพุนพิน จึงจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต่อไปเพื่อหาชัยภูมิใหม่ ได้อพยพขึ้นมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออีกครั้ง และได้ตั้งหลักแหล่งที่บ้านเวียงสระ (อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี) แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะโรคห่ายังไม่หายขาด ต้องรื้อถอนต่อไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหาดทรายใหญ่ริมทะเล ภูมิประเทศต้องตามลักษณะของชัยภูมิที่ดี คือ มีลำน้ำและที่ราบเหมาะสำหรับการเกษตร จึงได้สร้างเมืองขึ้นไว้ ณ ที่นั้น โดยสร้างกำแพงเมือง พระมหาธาตุเจดีย์และพุทธสถาน เมื่อจัดระเบียบการปกครอง ที่อยู่ที่กิน แก่ไพร่บ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว พระจ้าศรีธรรมาโศกราชจึงทรงปรึกษาพระมหาเถรานุเถระผู้เป็นพระอาจารย์และหัวหน้าพรามหมณ์ เพื่อหาอุบายป้องกันโรคไข้ห่าซึ่งยังมีอยู่บ่อย เพราะไม่หายขาด พระมหาเถรานุเถระและพราหมณาจารย์ทั้งหลายตกลงเห็นพ้องกันให้ทำเงินตรานโมตามตำรับไสยเวทหว่านรอบเมือง ตั้งแต่นั้นเมืองนครศรีธรรมราชก็ปลอดจากโรคนี้

สายที่สาม มาจากละโว้ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๑๙ ศาสตราจารย์ขจร สุขพานิช ได้เสนอบทความในการบรรยายเรื่อง ‘ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ตามศิลาจารึกดงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นราชวงศ์แรกของไทยหรือไม่' ณ หอสมุดแห่งชาติ มีใจความที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช ซึ่งพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชอุบัติขึ้นที่เมืองละโว้ ราว พ.ศ. ๑๖๕๘ (หรือจะก่อนหน้านี้ก็ไม่ควรมากนัก) และได้ประกาศเอกราช โดยส่งคณะทูตไปเมืองจีน ครั้นแล้วถูกพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แผ่อำนาจเข้ามาครอบครอง จวบจนสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๓ ต่อมาอีกห้าปี ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชจึงส่งราชทูตคณะที่ ๒ ไปเมืองจีนอีก การส่งทูตไปครั้งนี้เป็นการพยายามที่จะประกาศเอกราชของเมืองละโว้อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เรืองอำนาจ ก็กลับมารุกรานดินแดนในแถบกลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีก ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชที่เมืองละโว้มีกำลังน้อยกว่า จึงอพยพหนีลงมายังแหลมมาลายู ตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่นครศรีธรรมราชหรือตามพรลิงค์ เรื่องราวของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชจึงเป็นเรื่องราวของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในกลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อด้วยเรื่องราวของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในนครศรีธรรมราช ซึ่งถ้าพิจารณาจากความข้างต้นนี้ก็จะเห็นว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมิใช่พราหมณ์ที่มาจากอินเดีย เหมือนความในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับเวียงสระ

หากพิจารณาศิลาจารึกที่ดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นจารึกใน พ.ศ. ๑๗๑๐ ที่กล่าวถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชสองพระองค์ กับจารึกหลักที่ ๒๔ ของพระเจ้าจันทรภานุ ซึ่งจารึกขึ้นใน พ.ศ. ๑๗๗๓ ระยะเวลาระหว่างจารึกทั้งสองห่างกัน ๖๓ ปี เวลาดังกล่าวน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย เพราะเป็นเวลาที่เมืองนครศรีธรรมราชขาดผู้ปกครอง และขณะเดียวกันมีพระเจ้าศรีธรรมโศกราชเดินทางจากอินทปัตย์บุรี พร้อมด้วยบริวาร เข้ามาครองนครศรีธรรมราช ซึ่หลังจากดั้นด้นมาเป็นเวลานานประมาณ ๘-๙ ปี จึงถึงหาดทรายแก้ว

การเดินทางเข้ามาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและบริวารตามที่ปรากฏในตำนาน น่าจะตรงกับข้อสันนิษฐานของนักวิชาการได้หรือไม่ว่า เป็นการเคลื่อนย้ายของกลุ่มราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชในกลุ่มน้ำเจ้าพระยา หรือตอนเหนือขึ้นไป เรื่องนี้เซเดส์สันนิษฐานว่า มาจากเมืองลพบุรีลงไปเมืองนครศรีธรรมราช เส้นทางดังกล่าวไม่น่าประหลาดใจอะไรเลย เพราะในชินกาลมาลีปกรณ์จามเทวีวงศ์ และตำนานมูลศาสนา ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า กษัตริย์ที่ครองเมืองนครศรีธรรมราช เคยขึ้นไปครองเมืองลพบุรี

ภายหลังราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชก็เคลื่อนย้ายลงไปสู่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นช่วงระยะเดียวกับที่วัฒนธรรมเขมรกระจายไปทั่วคาบสมุทรทะเลใต้ จากหลักฐานทางด้านศิลปกรรม และศิลาจารึกบนฐานพระพุทธรูปนาคปรกที่ไชยา ซึ่งจารึกขึ้นใน พ.ศ. ๑๗๒๖ เป็นภาษรเขมร และระยะเวลาห่างจากจารึกดงแม่นางเมืองเพียงระยะเวลา ๑๖ ปีเท่านั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามตำนานเมืองและตำนานพระบรมธาตุ ต่างกล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาจากเมืองอินทปัตย์คำว่า ‘อินทปัตย์' นั้นหมายถึงเมืองหลวงของเขมรซึ่งปรารกฎอยู่ทั่วไปในตำนานเก่า

เรื่องที่มาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในจารึกดงแม่นางเมือง ยังเป็นปัญหาที่ไม่ยุติบางท่านกล่าวว่า ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเริ่มต้นที่เมืองลพบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๖๐๐ บางท่านกล่าวว่าเป็นเจ้าผู้ครองเมืองอยู่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภายหลังได้ย้ายลงไปครองเมืองนครศรีธรรมราชด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๑) บางท่านกล่าวแย้งว่า คำว่า ‘ศรีธรรมาโศกราช' เป็นราชวงศ์ที่มาจากนครศรีธรรมราชโดยตรง เพราะเป็นคำที่ใช้กับผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน ซึ่งอาจจะเป็นไปได้หลายกรณี โดยเฉพาะทางเชื้อสายแง่ความสัมพันธ์ทางการแต่งงานระหว่างราชวงศ์ และการอ้างสิทธิ์ในการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ดี ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเข้ามาครองนครศรีธรรมราชในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ นั้น มีความเกี่ยวพันกับกรุงศรีอยุธยา เพราะในตำนานพระบรมธาตุกล่าวถึงการสงครามระหว่างพระองค์กับท้าวอู่ทอง ผู้มีอำนาจอยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งชื่อนี้กลายมาเป็นราชวงศ์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยา และในจารึกพระเจ้าจันทรภานุในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อ้างว่าเป็นเชื้อสายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ซึ่งก็ตรงกับตำนานที่กล่าวว่า ทรงเป็นพระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช

ถ้าพิจารณาหลักฐานตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ว่าด้วยเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว ก็ต้องถือว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น จนกลายเป็นแคว้นที่รุ่งเรืองสูงสุดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ตัวเมืองนครศรีธรรมราช หรือ ‘ตามพรลิงค์' ในยุคแรกที่มีการสร้างบ้านแปงเมืองนั้น นักโบราณคดีเชื่อว่า น่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณเมืองพระเวียง (ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน) ทั้งนี้เพราะทำเลที่เหมาะในการติดต่อค้าขายทางทะเล มีลำน้ำที่สามารถออกสู่ทะเลได้ (คือคลองสวนหลวง คลองคูพาย และคลองท่าเรือ)
ในทางอาณาจักร ทรงสร้างชุมชนขึ้นเป็นเมือง ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ยุ่งยากใหญ่โตเป็นที่สุด เพราะมีปัญหานานัปการในแง่สื่อสารทำความเข้าใจ และวิธีการรวมกลุ่มชนอย่างยิ่ง การที่สามารถรวบรวมผู้คนที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วจัดการระบบการปกครองและระบบสังคมเข้าเป็นเมืองได้ ย่อมนับเป็นความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ชุมชนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้เรียกว่า ‘นครศรีธรรมราช' ซึ่งแปลได้ว่า ‘นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม'
การที่เปลี่ยนชื่อเมืองตามพรลิงค์เป็น ‘ศรีธรรมราช' นี้มีเค้ามูลที่เชื่อได้ว่า เป็นสร้อยอิสริยยศกษัตริย์ผู้ครองเมืองนี้ และคงจะถือเป็นธรรมเนียมสืบต่อเนื่องกันมา จนเป็นเหตุให้มีการขนานนามแคว้นนี้ตามสร้อยอิสริยยศผู้ครองเมืองว่า ‘นครศรีธรรมราช' ตั้งแต่นั้นมา


ด้วยระบบการปกครองแบบ ‘ธรรมราชา' ส่งผลให้พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมีเมืองบริวาร ๑๒ เมือง เรียกว่า
เมืองสิบสองนักษัตร แต่ละเมืองกำหนดให้ใช้สัตว์เป็นตราเมืองดังนี้
๑. เมืองสายบุรี ใช้ตราหนู (ชวด)
๒. เมืองสายปัตตานี ใช้ตราวัว (ฉลู)
๓. เมืองกะลันตัน ใช้ตราเสือ (ขาล)
๔. เมืองปะหัง ใช้ตรากระต่าย (เถาะ)
๕. เมืองไทรบุรี ใช้ตรางูใหญ่ (มะโรง)
๖. เมืองพัทลุง ใช้ตรางูเล็ก (มะเส็ง)
๗. เมืองตรัง ใช้ตราม้า (มะเมีย)
๘. เมืองชุมพร ใช้ตราแพะ (มะแม)
๙. เมืองบันทายสมอ ใช้ตราลิง (วอก)
๑๐. เมืองสะอุเลา ใช้ตราไก่ (ระกา)
๑๑. เมืองตะกั่วถลาง ใช้ตราหมา (จอ)
๑๒. เมืองกระ ใช้ตราหมู (กุน)




ส่วนในทางศาสนจักร ได้สร้างสิ่งสำคัญคือสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขึ้นตามแบบศิลปะลังกา คือทรงระฆังคว่ำ (หรือโอคว่ำ) พระบรมธาตุเจดีย์ที่สร้างขึ้นนี้ ตามตำนานเล่าว่า มีพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ ทั้งนี้โดยมีหน่อเนื้อกษัตริย์สององค์ คือ พระเหมชาลา (พี่สาว) และพระทนทกุมาร (น้องชาย) เป็นผู้อัญเชิญมาจากเมืองทนทบุรี (ในอินเดียตอนใต้) มาฝังอยู่ ณ หาดทรายแก้ว พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทราบความจากเรื่องเล่าเหล่านี้ จึงได้ก่อสถูปเจดีย์ตามแบบศิลปะลังกาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการสร้างเมืองนครศรีธรรมราช
โดยอาศัยพระสงฆ์และช่างจากศรีลังกามาเป็นต้นแบบก่อสร้าง
ด้วยการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นี่เอง ได้ส่งผลให้พุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ศรีลังกาในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ได้แพร่ขยายและสถิตสถาพรอยู่ในนครศรีธรรมราช และดินแดนคาบสมุทรไทยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา




ธงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช




ประวัติของธงประจำจังหวัด



ได้เริ่มมีการใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2458 สืบเนื่องมาจากการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งแรก ที่จังหวัดพระนคร ( กรุงเทพฯ ) ในการชุมนุมครั้งนั้นคณะลูกเสือจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้คิดจัดทำธงขึ้นโดยกะทันหัน โดยเลือกสีธงเป็น "สีม่วง" ตามชื่อเดิมของ "พระรัตนธัชมุณี" ( ม่วง) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษาของมณฑลนครศรีธรรมราช และเป็นผู้ฝึกขับร้องเพลงบอกให้แก่คณะลูกเสือจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ไปในคราวนั้น เมื่อกลับจากการชุมนุมที่จังหวัดพระนคร คณะลูกเสือเหล่านี้ได้มารายงานเรื่องสีของธงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด (พระยาประชากิจกรจักร์ ) (ฟัด มหาเปาระยะ) ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าได้ใช้สีม่วงไปแสดงต่อประชาชนในวงกว้างแล้ว ก็ให้ถือเอาสีม่วงเป็นสีธงประจำจังหวัดนับแต่นั้นมา

อนึ่ง มาใช้ในชั้นหลังได้มีการนำสีเหลือง ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองพระและตราสิบสองนักษัตร อันเป็นตราประจำเมืองเข้าไปไว้ตรงกลางผืนธง ทำให้ธงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชมราชมีตราสิบสองนักษัตรประทับอยู่แต่นั้นมา


ตราประจำจังหวัด


เป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์มีรูปสัตว์ ตามปีนักษัตรล้อมรอบ หมายถึง เมือง 12 นักษัตร จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 มีทั้งหมด 12 เมือง
ความหมายจังหวัด นครอันงามสง่า แห่งพระราชาผู้ทรงธรรม
ใช้อักษรย่อจังหวัด นศ.
ดอกไม้ประจำจังหวัด ดอกราชพฤกษ์
ต้นไม้ประจำจังหวัด ชื่อ ต้นแซะ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Mellettia atropurpurea
นกประจำจังหวัด ชื่อ นกกินปลีหางยาวเขียว (Green-tailed Sunbird)



เพลงประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช


ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช มีเชื้อชาติไทยพำนักทางปักษ์ใต
ตั้งนครสุนทรสง่ามาแต่ไร ปัญญาไวฉลาดเฉลียวเชี่ยวปฏิภาณ
เคยมีชื่อเด่นชัดในประวัติศาสตร์ สืบทายาทตระกูลใหญ่เกียรติไพศาล
มีพระธาตุขวัญเมืองเรืองสักการ ตามตำนานชาติไทยได้มีมา
จนบัดนี้ก็ยังมีความดีเด่น สมที่เป็นเมืองสำคัญอันสุดหา
สมเป็นด่านด้านใต้ใกล้คงคา พึงรักษาเกียรติไว้คู่ไทยเทอญ"






วิสัยทัศน์นครศรีธรรมราช



"นครศรีธรรมราช เมืองศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้
เมืองเกษตรและท่องเที่ยวน่าอยู่ สู่สังคมพัฒนายั่งยืน"



คำขวัญประจำเมือง
นครศรีธรรมราช



เราชาวนครฯ อยู่เมืองพระ
มั่นอยู่ในสัจจะ ศีลธรรม
กอปรกรรมดี มีมานะ พากเพียร
ไม่เบียดเบียน ทำอันตรายผู้ใด

คติเดือนใจ



ไม่ประพฤติชั่ว ไม่ทำลายผู้อื่น
มุ่งทำความดี เจริญด้วยศักดิ์ศรี
ตั้งจิตผ่องใส ผูกไมตรี
มีมารยาทต่อทุกคน





ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ



พระบรมธาตุเจดีย์เป็นเสมือนตัวแทนขององค์พระพุทธเจ้า ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชเชื่อมั่นว่ามีบุญญาภินิหารหาที่เปรียบมิได้ ทั้งนี้เพราะว่าภายในพระเจดีย์ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ในปีหนึ่งๆ พุทธศาสนิกชนจะบูชาองค์พระธาตุเจดีย์ด้วการจัดขบวนแหพระบฎขึ้นห่มองค์พระเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล อันนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำรงชีพทุกด้าน ประเพณีจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือในวันมาฆบูชา(ขึ้น 15 ค่ำเดือน3) และวันวิสาขบูชา (ขึ้น 15 ค่ำเดือน 6)









งานประเพณีบุญเดือนสิบ 2551
23 กันยายน -2 ตุลาคม 2551

ณ บริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) อำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช



สืบ สายธารแห่งศรัทธา ที่ถือปฏิบัติมาช้านานของคนคอนในงานประเพณีบุญเดือนสิบอันยิ่งใหญ่ ชมขบวนแห่หมรบ ในวันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน 2251 จากสนามหน้าเมืองไปยังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเลือกซื้อสินค้าหลากหลายภายใน บรรยากาศตลาดย้อนยุคสนุกกับมหกรรมการแสดงมากมาย


เทศกาลงานประเพณีเดือนสิบ

เริ่มในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกๆ ปี ปเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่มากของชาวภาคใต้และชาวนครศรีธรรมราช งานประเพณีนี้เริ่มในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำ เดือน10 ของทุกๆ ปี ประเพณีเทศกาลเดือนสิบ เป็นงานบุญเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุพการีซึ่งล่วงลับไปแล้ว ตามความเชื่อทางพุทธศาสนาว่าผู้ล่วงลับไปแล้วมีบาปมากจะตกนรกและกลายเป็น “เปตชน” หรือเปรต จะถูกปล่อยตัวจากนรกเพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิมก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงพยายามหาอาหารต่าง ๆ ไปทำบุญตามวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เริ่มในวันแรม 13 ค่ำ ซึ่งเป็น “วันจ่าย” หมายถึง วันออกจับจ่ายซื้อของที่จำเป็นในการจัดตกแต่ง “หมรับ” (สำรับ) ในวันแรม 14 ค่ำ คือวัน “ยกยกหมรับ” หมายถึง การยก “หมรับ” ไปวัดหรือวันรับตายายและวันที่ผู้ล่วงลับจะต้องกลับลงไปอยู่ในนรกตามเดิม คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ เรียกว่า “วันบังสุกุล” หรือวันส่งตายาย ในฃ่วงเวลาดังกล่าวญาติพี่น้องก็จะร่วมกันทำบุญเพื่ออุทิศการกุศลไปให้บรรพชน ซึ่งประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ *ข้าวพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพ สำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ตามกติกาทางพุทธศาสนา ** ขนมลา ใช้แทนแพรพรรณเครืองนุ่งห้ม ***ขนมบ้า ใช้แทนสะบ้า สำหรับบุพชนจะได้ใช้เส่นสะบ้าในวันสงกรานต์ ****ขนมดีชำ ใช้แทนเบี้ยสำหรับจับจ่ายใช้สอบ *****ขนมไข่ปลา ใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับทั้งนี้ขนมทั้ง 5ก็เปรียบเหมือนเครื่องปัจจัยสี่ในแดนนรกภูมิ
สำหรับหมรับในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาจากการจัดหมรับแบบดั้งเดิม เป็นการตกแต่งให้สวยงามมากขึ้น โดยมีองค์ประกอบครบถ้วนตามแบบโบราณและจัดให้มีการแข่งขันการจัดยกหมรับขึ้นอีกด้วย โดยจะมีขบวนแห่แหนกันอย่างสวยงามตลอดแนวถนนราชดำเนินในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ



ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช



ที่ตั้ง บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง เนื้อที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่ประดิษฐานหลักเมือง ออกแบบให้มีลักษณะ คล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรง เหมราชลีลา วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2532 ส่วนอาคาร เล็กทั้งสี่หลังถือเป็น ศาลบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพระบันดาลเมือง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2542
หลักเมืองนครศรีธรรมราช
องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขา ลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบลกระหรอ กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรี-ธรรมราช ขนาดความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐาน ซึ่งเป็นวงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจุตคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษามือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการ แกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพล ทางศิลปกรรมในภาคใต้และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ ประกอบพิธีเบิกเนตรหลักเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมยอดชัยหลักเมืองเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมือง ในวันรุ่งขึ้น

พระวิหารสูงหรือหอพระสูง


เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราช ด้านทิศเหนือในบริเวณสนามหน้าเมือง ถนนราชดำเนิน เรียกซื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหารซึ่งสร้างบนเนินดินที่สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามาราถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรมและจิตกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานด้วยพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพทธศตวรรษ


สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดชายนา


สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดชายนา ตั้งอยู่ถนนพัฒนาการทุ่งปรัง หลังวัดท้าวโคตร เป็นสถานที่มีการสอนวิปัสสนากรรมมฐานซึ่งเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่งประเทศ ริเริมโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ถือเป็นสาขาของวัดสวนโมกข์


วัดสวนหลวง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ภายในเขตเมืองโบราณพระเวียงอันเป็นเมืองโบราณรุ่นแรกของนครศรีธรรมราช วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามนามว่า สมเด็จเจ้าแม่ลาวทอง ปางอุ้มบาตร และเป็นที่พระดิษฐานบน "นมพระ" หรือ "พนมพระ" (บุษบก) และชักลากไปทั่วเมืองเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมบุญด้วยการ "ลากพระ" ตามประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมา และพระอุโบสกในวัดสวนหลวงนั้นเป็นพระอุโบสถในสมัยอยุธยาโดยมีภาพปูนปั้นพุทธประวัติประดับผนังภายในพระอุโบสถซึ่งแสดงให้เห็นถึงฝีมือช่างท้องถิ่น



หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาพราหมณ์อีกแห่งหนึ่งตรงข้ามกับหอพระอิศวร อาคารหอพระนารายณ์เดินไม่สามารถสืบทราบรูปแบบได้ สิ่งสำคัญที่พบภายในหอพระนารายณ์ ได้แก่ เทวรูปพระนารายณ์สลักจากหินทรายสีเทาทรงมาลารูปกระบอกปลายสอบและพระหัตถ์ขวาทรงสังข์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 10 - 11 ซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โบราณวัตถุที่ตั้งอยู่ในหอพระนารายณ์ขณะนี้คือ เทวรูปพระนารายณ์จำลองจากองค์จริงที่พบในแหล่งโบราณสถานคดีแถบอำเภอสิชล


หอพระอิศวร อยู่ริมถนนราชดำเนิน เป็นโบราณสถานในศาสนาฮินดู เป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรและฐานโยนิ รวมทั้งเทวรูปสำริดอีกหลายองค์ อาทิ เทวรูปศิวนาฎราช พระอุมาและพระพิฆเนศ ซึ่งจำลองจากองค์จริงที่เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช

หอพระพุทธสิหิงค์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญ หนึ่งในสามองค์ของประเทศไทย ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชและศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวกันว่า พระมหากษัตริย์บังกาโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 และอัญเชิญเข้ามายังประเทศไทยในรัชสมัยพ่อขุนรามแหงมหาราช ปัจจุบันพระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์ในประเทศไทย มีอยู่ 3 องค์ คือ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครองค์หนึ่ง ประดิษฐาน ณ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่องค์หนึ่ง และประดิษฐาน ณ หอพระพุทธสิหิงค์ จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกองค์หนึ่ง หอพระพุทธสิหิงค์แห่งนี้เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร (น้อย) ภายในหอแบ่งเป็นสองตอน ตอนหน้าเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธสิหิงค์และพระลากเงิน พระลากทอง (พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร) ส่วนหอตอนหลังเป็นที่บรรจุอัฐิของสกุล

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นพระอารามหลงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหารเดิมชื่อวัดพระบรมธาตุ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้และประเทศไทย ตามตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ เป็นที่หมายไว้ ต่อมาในปีมหาศักราช 1098 (พ.ศ.1719) พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมการก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่ พระบรมธาตุมีลักษณะรูปแบบศิลปกรรมเป็นเจดีย์ทรงลังกาสูง 55.78 เมตร (กรมศิลปากรวัดเมื่อการบูรณะปลียอดทองคำเมื่อ พ.ศ.2538 จากฐานบัวคว่ำบัวหงายถึงปลียอด 6.80 เมตร ใช้ทองคำเนื้อสิบหุ้มโดยรอบ ภายในวัดพระบรมธาตุฯ มีวิหารที่สำคัญหลายหลังประดิษฐานอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระวิหารหลวง มีความงามตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา นอกจากนั้นยังมี วิหารสามจอม วิหารที่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ชื่อว่า "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช" ประดิษฐานอยู่วิหารพระมหาภิเนษกรมน์(วิหารทรงม้า) วิหารทับเกษตร ส่วนวิหารเขียน และวิหารโพธิ์ลังกานั้นเป็นสถานที่จัดแสดงโบราณวัตถุที่พุทธศาสนิกชนถวายเป็นพุทธบูชา


โบราณสถาน

อนุสาวรีย์วีรไทย



หล่อด้วยทองแดงรมดำ เป็นรูปทหารจับปืนติดดาบเตรียมแทง ชาวนครเรียกว่า "จ่าดำ" หรือ "เจ้าพ่อดำ" สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ของทหารไทยในภาคใต้ที่เสียชีวิต ในการปะทะกับทหารญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ประดิษฐานอยู่บนถนนราชดำเนิน ในค่ายวชิราวุธ อันเป็นที่ตั้งกองทัพภาคที่ 4 ปัจจุบัน


เก๋งจีนวัดประดู่



เก๋งจีนวัดประดู่ มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนเช่นเดียวกับเก๋งจีนวัดแจ้ง โดยเป็นที่ประดิษฐานอัฐเจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยานคร (หนู) ตั้งอยู่ในบริเวณวัดประดู่ ถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช



เก๋งจีนวัดแจ้ง



ตัวอาคารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปทรงอย่างอาคารจีนภายในดิษฐานบัวบรรจุอัฐของเจ้าพระยานคร (หนู) และหม่อมทองเหนียวผู้เป็นชายา ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตวิทยาลัยสงฆ์ภาคทักษิณซึ่งอยู่ในวัดแจ้ง ถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช


กุฏิทรงไทย



หรือที่ชาวนครท้องถิ่นเรียกกันว่ากุฏิร้อยปี ตั้งอยู่ในวัดวังตะวันตก ริมถนนราชดำเนินตามประวัติกล่าวว่า เมื่อครั้งเจ้าจอมมารดาประทับอยู่ยังวังตะวันออก โปรดให้ปรับปรุงป่าขี้แรดตรงข้ามกับวังตะวันออกให้เป็นอุทยานวังตะวันตก ครั้นเจ้าจอมมารดาสิ้นชีพิตักษ์ลง เจ้าพระยานคร (น้อย) ผู้บุตรได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ปลงพระศพ และสร้างขึ้นใหม่เป็นวัดวังตะวันตกคู่กับวังตะวันออก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2431 พระครูกาชาด (ย่อง) พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฏิขึ้นหมู่หนึ่ง ด้วยประสงค์เพื่อ "เปลื้องธุระสงฆ์ที่กังวนด้วยฟากฝา แลจะได้อยู่ไสยเอาเรียนพระธรรม์บำรุงพุทธศาสนาให้จิรัง" โดยใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 13 ปี เป็นกุฏิไม้ทรงไทยภาคใต้ และปี พ.ศ. 2535 สมาคมสถาปนิกสยามคัดเลือกกุฏิวัดวังตะวันตกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม



สระล้างดาบศรีปราชญ์



สระน้ำเก่าแก่ เชื่อว่าเป็นสระทีใช้ล้างดาบเล่มที่ใช้ประหารศรีปราชญ์กวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำความผิดจึงถูกเนรเทศมายยังเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อศรีปราชญ์ทำความผิดอีกครั้งหนึ่ง พระยานครศรีธรรมราชจึงสั่งประหารชีวิต ปัจจุบันสระล้างดาบศรีปราชญ์ได้รับการตกแต่งอยู่ในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช





ศาลาโดหก หรือ ศาลาประดู่หก



ศาลาโดหก หรือ ศาลาประดู่หก อยู่ริมถนนราชดำเนิน เดิมเป็นศาลานอกกำแพงเมืองตรงประตูชัยเหนือ อันเป็นที่พักของคนเดินทาง ซึ่งเข้าเมืองไม่ทัน เพราะประตูเมืองปิดเสียก่อน ศาลานี้ตั้งอยู่ระหว่างต้นประดู่ (ต้นโด) หกต้น ชาวนครเรียกว่า "หลาโดหก" (หลา หมายถึง ศาลา) ต้นประดู่ทั้งหกต้นนั้นบัดนี้ล้มหายตายจากไปหมดแล้ว จึงได้มีการปลูกทดแทนเพื่อเป็นที่ระลึกถึงประดู่ทั้งหกต้น ปัจจุบันเทศบาลนครศรีธรรมราช ได้ก่อสร้างศาลาขึ้นมาใหม่โดยคงรูปลักษณ์เดิมให้มากที่สุด ส่วนอาคารก่ออิฐถือปูนซึ่งอยู่ด้านหน้าติดกับถนนราชดำเนินนั้นเป็นอาคารที่ใช้สำหรับการจัดงานเทศการลต่างๆ ของเมืองนครศรีธรรมราช



อนุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช


ที่ตั้ง ประดิษฐานอยู่ที่สวนสาธารณศรีธรรมาโศกราช บริเวณพื้นที่เรือนจำจังหวัดแต่ก่อน
ประวัติ ตามตำนาน เมืองนครศรีธรรมราชกล่าวว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นกษัตริย์ปกครองเมืองอื่นมาก่อน ภายหลังเกิดไข้ห่าระบาดในเมืองนั้น จนทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมากจนต้องอพยพผู้คนที่เหลือตาย ลงเรือสำเภามาขึ้นที่หาดทรายแก้ว ได้ตั้งบ้านเมือง ณ ที่นั้น และขนานเมืองว่า "นครศรีธรรมราชมหานคร" เมื่อสร้างเมืองเสร็จ ก็ได้ก่อสร้างสถูปเจดีย์ สำหรับบรรจุพระบรมสาริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น คือ พระบรมธาตุเจดีย์


กำแพงเมือง


กำแพงเมืองเดิมก่ออิฐถือปูนทั้งสี่ด้าน มีเชิงเทิน ใบเสมา มุมกำแพงทั้งสี่ด้านมีป้อมมุมละป้อม กำแพงทางด้านเหนือและด้านใต้มีประตูเมืองด้านละหนึ่งประตู คือ ประตูชัยเหนือ หรือ"ประตูชัยศักดิ์" และทางด้านใต้ คือ ประตูชัยให้ หรือ ประตูชัยสิทธิ์ ขนาดของเมืองวัดตามกำแพงเมืองยาว 2238.50 เมตร กว้าง 456.50 เมตร ถัดออกจากแนวกำแพงเมืองเป็นคูเมือง โดยคูเมืองด้านทิศเหนือคือ คลองน้อย (หรือคลองหน้าเมืองในปัจจุบัน) ซึ่งขุดไปออกอ่าวไทย กำแพงเมืองตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราชกล่าวสร้างหลังจากที่ะรพเจ้าศรรีธรรมโศกราชอพยพผู้คนหนีไข้ห่ามาตั้งเมืองที่หาดทรายแก้วแล้วโปรดให้สร้างขึ้นและได้รับการ ซ่อมแซมมาโดยลำดับ เช่น ในครั้งที่พระเมศวรได้เสด็จตีล้านนาเมื่อ พ.ศ.1950 กำแพงเมืองได้รับการซ่อมแซมมาโดยชาวล้านนาต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2230 มีการซ่อมแซมกำแพงเมืองครั้งใหญ่โดยสร้างป้อมปรกการแบบ Chateau ซึ่งสามารถป้องกันปืนใหญ่แบบตะวันตกได้ และกำแพงเมืองที่เหลือในปัจจุบันที่สร้างโดยสมัยนั้น และสมัยตันกรุงรัตนโกสินทร์ ราวปี พ.ศ. 2327 ได้มีการซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง โดยพระยานครศรีธรรมราช (พัด) และได้รับการบูรณเพิ่มเติมขึ้นในอีกปี พ.ศ. 2533 เป็นครั้งสุดท้าย ปัจจุบันมีแนวกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่เป็นแนวขนานไปกับคูเมืองตั้งแต่ประตูชัยเหนือหรือประตูชัยศักดิ์ ไปทางตะวันออกยาวประมาณ 100 เมตร

จวนออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา)


จวนออกญาเสนาภิมุข (ยามาดา นางามาซา) ออกญาเสนาภิมุข เป็นชาวญี่ปุ่นเดิมชื่อ ยามาดา นางามาซา เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมในฐานะทหารอาสาศึก มีโอกาสทำความดีความชอบพิเศษหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญาเสนาภิมุข และได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่ไปปกครองเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2172 ปัจจุบันมีบริเวณที่แสดงร่องรอยว่าเคยเป็นจวนที่พักของออกญาเสนาภิมุขอยู่ที่ ถนนนางงาม (ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช) นอกจากนี้เทศบาลนครนครศรีธรรมราชยังได้สร้างอนุสรณ์สถานแด่ออกญาเสนาภิมุขไว้ ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เพื่อเป็นที่แสดงความเคารพของชาวญี่ปุ่นที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครศรีธรรมราช







การเดินทางมายังจังหวัดนครศรีธรรมราช


รถยนต์
เส้นทางหลวงหมายเลข 4 กรุงเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านสุราษฎร์ธานี-ทุ่งสงจนถึงนครศรีธรรมราช หรือถึงอำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี แล้วใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 401 เลียบชายฝั่งทะเลไปจนถึงนครศรีธรรมราช รวมระยะทาง 780 กิโลเมตร

รถไฟ
จากสถานีรถไฟหัวลำโพง มีขบวนรถเร็ว และรถด่วน ไปนครศรีธรรมราช รวมระยะทาง 832 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือจองบัตรโดยสารรถไฟได้ที่ โทร. 0 2220 4444 website: http://www.railway.co.th/ สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช โทร. 0 7535 6364, 0 7534 6129

รถโดยสารประจำทาง
บริษัท ขนส่ง จำกัดมีบริการรถโดยสารทั้งแบบธรรมดา และปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนีสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 2435 1199 (รถปรับอากาศ) และโทร. 0 2434 5558 (รถโดยสารธรรมดา) website: http://www.transport.co.th/ สถานีขนส่งนครศรีธรรมราช โทร. 0 7534 1125 อำเภอขนอม มีรถวี ไอ พี ปรับอากาศ ชั้น 1 ขนอม-กรุงเทพฯ รถออกจากขนอม เวลา 17.30 น. และ 18.00 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 04.00 น.และกรุงเทพฯ-ขนอม มีรถออกจากกรุงเทพฯ เวลา 19.30 น. และ 20.30 น. ถึงขนอม เวลา 05.30 น. และ 07.00 น. ตามลำดับ สอบถามข้อมูลได้ที่ บริษัท ทรัพย์ไพศาล จำกัด โทร. 0 7552 8323 บริษัท นครศรีราชาทัวร์ จำกัด โทร.02-885-9608-9, 02-8946220 บริษัท นครศรีร่มเย็นทัวร์ จำกัด โทร.02-894-6154-5 บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โทร.02-894-6008,08-5891-7188 บริษัท ไทยเดินรถ จำกัด โทร.081-620-4293, 028946100-4

เครื่องบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)มีเที่ยวบินไป/กลับนครศรีธรรมราชทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1566, 0 2356 1111, 0 2280 0060, 0 2628 2000 หรือhttp://www.thaiairways.com/ หรือ สำนักงานนครศรีธรรมราชโทร. 0 7534 2491, 0 7534 3874 สายการบิน นกแอร์ โทร.1318, 02-627-2000 http://www.nokair.co.th/ และสายการบิน วันทูโก โทร.1126, 02-229-4260 http://www.fly12go.com/ สนามบินนครศรีธรรมราช โทร.075-369-540

คำขวัญประจำอำเภอต่างๆ



อ.นาบอน น้ำตกคลองจัง ยางดังพันธุ์ดี
พื้นที่อุดม ชมงานปิดกรีด

อ.ลานสกา เมืองมังคุดหวาน หมู่บ้านพัฒนา ถ้ำผาสวยงาม
น้ำตกกะโรมตระหง่าน สืบตำนานอู่ข้าวอู่น้ำ

กิ่ง อ.นบพิตำ น้ำตกกรุงชิง ต้นประสวยยิ่ง เด่นจริงคลองกาย
แร่ธาตุป่าไม้ ค่ายลูกเสือจังหวัด เมืองประวัติโบราณ

อ.ร่อนพิบูลย์ คุณอุดมสินแร่ เมืองแม่เศรษฐี ผลไม้พันธุ์ดี
มีปศุสัตว์ เกจิหลวงพ่อ ใบพ้อสานพัด
ดุกย่างรสจัด ทิวทัศน์รามโรม

อ.พระพรหม ผ้ายกประดิษฐ์ ผลิตจักสาน พื้นบ้านข้าวหลาม
งดงามมหาวิทยาลัย มะนาวไข่พันธุ์ดี

อ.ถ้ำพรรณรา พระไสยาสล้ำค่า ตระการตาถ้ำกัลยาณมิตร ผลผลิตยางพารา
อนุรักษ์ป่าชื่นฉ่ำ ขึ้นถ้ำเป็นประเพณี สายตาปีชลเขต

อ.บางขัน พระพุทธลีลาฯ สูงตระหง่าน อุทยานบ่อน้ำร้อน
เขานางนอนมีตำนาน ถ้ำเพดานงามตา เสน่ห์หาน้ำตกโตน

อ.ฉวาง ฉวางเมืองคนดี มั่งมียางพารา แข่งเรือวันออกพรรษา
ศูนย์การค้าตลาดจันดี สนุกดีงานปีใหม่ ก้าวไกลการศึกษา

อ.ชะอวด เมืองต้นน้ำ กุ้งก้ามกราม อิฐแผ่นงาม
กระจูดสวย ห้วยน้ำใส

อ.ท่าศาลา โมคลานตั้งก่อน ทรัพยากรมากหลาย หาดทรายยาวรี
หม้อดีบ้านยิง มิ่งเมืองมหาวิทยาลัย น้ำใสปลาสด
งดงามน้ำใจ

อ.ทุ่งสง ถ้ำตลอดงามตระการ อุทยานน้ำตกโยง โรงงานมากมี
สถานีชุมทาง ศูนย์กลางราชการ ทรงประทานพระคู่เมือง
ลือเลื่องแม่กวนอิม

อ.เฉลิมพระเกียรติ โรงเรียนสมเด็จย่า มาลัยดอกมะลิ เกจิหลวงปู่สังข์
ศิลปินดังแห่งชาติ ราชพฤกษ์สัญลักษณ์ พืชผักไร่นาสวนผสม

อ.สิชล สิชลเมืองโบราณ ถ้ำพิศดาร ธารสะอาด
หาดหินงาม น้ำตกสวย รวยทรัพยากร

กิ่ง อ.ช้างกลาง ตำนานเมืองคล้องช้าง น้ำยางพันธุ์ดี

อ.ปากพนัง รังนกเลื่องชื่อ ร่ำลือขนมลา
โอชาไข่ปลากระบอก ส่งออกกุ้งกุลา
ออกพรรษาไหว้พระลาก นิยมมากแข่งเรือเพรียว

อ.หัวไทร เมืองนากุ้ง ทุ่งนาข้าว จ้าวทะเล
เสน่ห์หาดทราย มากมายศิลปิน

อ.ขนอม ขนอมพร้อมมูล เทิดทูนคุณธรรม ถ้ำสวย
รวยชายหาด น้ำตกหินลาด พระธาตุปะการัง
ป่าเขาชายทะเล คือเสน่ห์ของขนอม

อ.ทุ่งใหญ่ ถิ่นยางพันธุ์ดี เจดีย์ศรีวิชัย เพลินไพรนางนอน
จุฬาภรณ์พัฒนา ป่าสองทะเลศรี ธรณียิบซั่ม

อ.พรหมคีรี เมืองผลไม้ดก น้ำตกสะอาด ธรรมชาติล้ำค่า
หลากภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบสานวัฒนธรรม

อ.พิปูน พระใหญ่บนภูผา เจ้าฟ้าปรานี คีรีล้อมข้าง
สองอ่างพักผ่อน น้ำร้อนหลายบ่อ มากพอน้ำตก
ชูยกคนดี ตาปีแดนเกิด

อ.จุฬาภรณ์ สามวังลือเลื่อง นามเมืองเจ้าฟ้า ศิลาช่องคอย
อร่อยคั่วกลิ้ง

อ.เชียรใหญ่ เมืองใหม่ลุ่มน้ำ เกษตรกรรมก้าวหน้า พุทธศาสนาเลิศล้ำ
วัฒนธรรมรุ่งเรือง ลือเลื่องศิลปิน เมืองศิลปาชีพ


1 ความคิดเห็น:

  1. หลงทางเข้ามา..อ่านแล้วมีสาระดี..
    ขอ ญาตก็อปนะครับ

    ตอบลบ